เทคนิคการใช้ คะ/ ค่ะ ให้ถูกต้อง




เกิดมาเป็นหญิงนี่แสนจะลำบาก แม้แต่เรื่องการใช้คำลงท้าย ยังต้องระมัดดระวัง พิถีพิถันในการใช้มากๆ แต่ก็อย่าน้อยใจไปค่ะ เพราะการใช้คำให้ถูกต้อง มันก็จะสื่อให้เห็นถึงศักยภาพในตัวเรา เห็นถึงความใส่ใจ และใครมาได้ยินก็จะรู้สึกรื่นหู ชวนฟังไปตามๆ กันด้วย


สำหรับบทความนี้ขอมาเสนอวิธีการใช้คำว่า "คะ" "ค่ะ" ให้ถูกต้อง ในแบบฉบับที่ใช้ตามได้ง่าย ใช้ได้ฉับไวในสถานการณ์จริงค่ะ
ก่อนอื่นเรามาดูกันค่ะว่า สาเหตุที่ใช้ผิดนั้น มาจากอะไรบ้าง

สาเหตุที่ใช้ผิด
ก็อาจจะมีหลายๆ สาเหตุด้วยกัน แต่ที่พบเจอบ่อยก็คือ
1. ไม่รู้จริงๆ ว่าใช้ผิด
2. ผันวรรณยุกต์ผิด
3. ใช้ตามๆ กันมา

การใช้คำว่า "คะ" / "ค่ะ" ให้ถูกต้อง


คำว่า "คะ"

1. ใช้ในประโยคคำถาม
เช่น ราคาเท่าไรคะ นี่คืออะไรคะ ไปไหนเหรอคะ

2. ใช้เป็นคำลงท้ายเวลาเรียกบุคคลเพื่อเพิ่มความสุภาพ
เช่น คุณคะ พ่อคะ แม่คะ

3. ใช้ต่อท้ายคำว่า "นะ" และคำว่า "สิ"
เช่น สิคะ นะคะ (ไม่มีคำว่า นะค่ะ )


คำว่า "ค่ะ"

1. ใช้ในประโยคบอกเล่า 
เช่น ฉันชอบฟังเพลงค่ะ ฉันไปต่างจังหวัดค่ะ ฉันไม่สบายค่ะ

2. ใช้ในการตอบรับ
เช่น ใช่ค่ะ ไม่ใช่ค่ะ ได้ค่ะ 

เทคนิคการใช้ "คะ" / "ค่ะ" ให้ถูกต้อง

ที่ 2 คำนี้เป็นปัญหาใหญ่ในการใช้อาจจะเป็นเพราะว่าการผันวรรณยุกต์ที่ไม่ตรงกับรูปที่เห็นค่ะ พยัญชนะ "ค" เป็นอักษรต่ำ ทำให้รูปและเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกัน แต่ถ้าใครกลัวมึน และไม่แม่นกับหลักทฤษฎีมากนัก เราก็มีวิธีการง่ายๆ ที่จะทำให้เราใช้ไม่ผิดเพี้ยน ดังนี้ค่ะ


1.เทียบเสียงแบบโมโลดี้ดนตรี
ถ้าคุณยังงงๆ กับอักษรกลาง ต่ำ สูง ล่ะก็ ให้คิดซะว่าออกเสียงเหมือนดนตรีค่ะ


คำว่า "ค่ะ" จะเสียงต่ำ คำว่า "คะ" จะเสียงสูง

2. เทียบเสียงกับคำที่ออกเสียงเหมือนกัน
ถ้าคุณรู้ตัวว่าแค่เขียนผิด แต่เวลาพูด พูดถูกต้องแล้ว (ประมาณว่าไม่ได้พูดคำว่า "น่ะค่ะ" เวลาสนทนากับคนอื่น) ก็สามารถใช้วิธีเทียบเสียงคำที่คล้ายกันได้ค่ะ

เช่น คำว่า "คะ" จะออกเสียงเหมือนคำว่า "ราคะ

คำว่า "ค่ะ" จะออกเสียงเหมือนคำว่า "โมย" (ขะ- โมย)

หรือว่าคำว่า "ค่าาาา" ที่เราใช้กันในสื่อออนไลน์ เวลาตอบรับคนอื่นให้ดูเป็นมิตร เป็นกันเองโดยลากเสียงยาว  ถ้าอยากจะใช้ก็อย่าไปใช้ว่า "ค้าาา" นะคะ อันนี้จะมีความหมายว่า "ค้าขาย" ค่ะ คนรับสารจะงงเอา ให้ใช้คำว่า "ค่าาา" แทนค่ะ ออกเสียงเหมือนคำว่า "ค่าเงิน"

หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการใช้ภาษาไทยกันมากขึ้นนะคะ จากเรื่องนี้ก็ทำให้เราได้เห็นว่าภาษาไทยมีความพิถีพิถันมาก แค่เสียงเปลี่ยน ความหมายก็เปลี่ยน และสื่อสารไม่เข้าใจ ฉะนั้นแล้ว จงภูมิใจในภาษาของเรากันค่ะ

สุดท้าย ภาษาไทยใช้ไม่ยากเลยค่ะ อย่าลืมใช้ให้ถูกต้องกันด้วยนะคะ



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น