ในความต่างที่ยังคงความเหมือน



ในความต่างที่ยังคงความเหมือน



“เช็งเม้ง” เป็นผลงานในหนังสือรวมเรื่องสั้น “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” ของวินทร์ เลียววาริณ เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครหลัก คือ “ผม” ที่ต้องไปร่วมงานเช็งเม้ง สร้างความประหลาดใจให้คนกับญาติพี่น้องของเขา เพราะเขาไม่เคยมางานเช็งเม้งเลยนับตั้งแต่วันที่แม่กับเตี่ยตาย การกลับมาของ “ผม” ในงานเช็งเม้งนี่ ทำให้ “ผม” ได้นึกย้อนถึงอดีตเรื่องราวต่างๆ ระหว่างตนเองและครอบครัวเชื้อสายจีนของเขา นำไปสู่การค้นพบอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับตัวตนของเขาเอง “เช็งเม้ง” เป็นเรื่องสั้นที่นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับรากเหง้าหรือสายสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ไม่มีทางแยกออกจากกัน ถึงแม้ว่าตัวตนของเราจะมีความเปลี่ยนแปลงไป 


เรื่องสั้นเรื่องนี้เปิดเรื่องโดยการที่ตัวละครเอก ซึ่งก็คือ “ผม” ได้มาร่วมงานเช็งเม้ง และนึกย้อนถึงรูปถ่ายของครอบครัวใบหนึ่งที่ถูกถ่ายในงานแซยิดเจ็ดสิบสองปีของอากง และนี่คือจุดเริ่มต้นถึงการย้อนนึกถึงเรื่องราวของตนเองและครอบครัว และเป็นที่มาของการค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตัว “ผม” 


การมาของ “ผม” เป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับญาติพี่น้องเป็นอย่างมาก เพราะ “ผม” ไม่เคยมางานเช็งเม้งเลย นับตั้งแต่เตี่ยกับแม่ตายไป เรื่องราวดำเนินไปพร้อมกับความทรงจำของตัวละครเอกของเรื่องที่เล่าผ่านมาออกมาสลับกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่เขากำลังประกอบพิธีในงานเช็งเม้งอยู่ 


เรื่องสั้นเรื่องนี้ประกอบด้วยเรื่องราวต่างๆ มากมาย ที่เล่าออกมาจากความทรงจำของตัว “ผม” ทั้งเรื่องชีวิตในวัยเด็ก เรื่องของเตี่ย ของแม่ และญาติพี่น้องคนอื่นๆ ดูเหมือนจะเป็นรายละเอียดที่มาก แต่สิ่งเหล่านี้กลับเหมือนจิ๊กซอว์ที่ปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์


ตัวละคร “ผม” เป็นคนที่มีเชื้อสายจีน แต่ เขานั้นมีความรู้สึกว่าเป็นผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมพอสำหรับคนที่มีเชื้อสายจีน เช่น “ผม” ไม่เคยมางานเช็งเม้งเลย ซึ่งงานเช็งเม้งนี่ถือเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวจีน คนจีนคนไหนที่ไม่มางานเช็งเม้งก็ถือว่าไม่ใช่คนจีน “ยุ่งกับงานยังไงก็ต้องมาเช็งเม้ง คนจีนลืมเช็งเม้งก็ไม่ใช่คนจีนแล้ว” (หน้า 253)  เขามักจะแสดงว่าตัวว่าเป็นคนอื่นจากญาติพี่น้องหรือเครือญาติของเขาเสมอ เขามักจะเรียกญาติพี่น้องของเขาว่า “พวกเขา” ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอื่น รวมไปถึงความรู้สึกของเขาที่รู้สึกไม่พึงพอใจหรือไม่ชอบกับความเป็นจีนในแบบที่ญาติพี่น้องคนอื่นๆ เขาเป็นกัน เช่น “ผม” ชอบฟังเพลงเดอะ บีทเทิลส์ของฝั่งตะวันตก ซึ่งขัดกับเตี่ยที่ชอบฟังเพลงงิ้ว ไม่ชอบคนจีนที่ชอบทำตัวสกปรก ที่ชอบถ่มน้ำลาย ถุยเสลด อยากเปลี่ยนนามสกุลเป็นคนไทย ไม่พึงพอใจที่ตนเองตาตี่ มีตาชั้นเดียวแบบคนจีน รวมไปถึงเรื่องการแต่งงาน ที่ “ผม” ยังไม่มีครอบครัว ในขณะที่ญาติคนอื่นๆ แต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว เขามักจะถูกญาติหลายๆ คน ถามถึงว่า เมื่อไรจะแต่งงานอยู่เสมอ ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างเขากับญาติพี่น้องที่มีครอบครัวกันไปแล้ว แต่เขายังไม่มี รวมไปถึงอาการทำตัวไม่ถูกของ “ผม” ในขณะที่ทำพิธีกรรมงานเช็งเม้ง ทำอะไรไม่ถนัด ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรก่อนหรือควรทำอะไรหลัง ได้แต่หันไปถามตั่วกอหรือพี่ชายใหญ่อยู่เสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่แตกต่างระหว่าง “ผม” กับ “เครือข่าย” 


แต่ในขณะเดียวกันระหว่างที่ตัวละครเอก “ผม” กำลังนึกคิดอดีตที่ผ่านมา เรื่องราวของญาติพี่น้องแต่ละคน และการกระทำต่างๆ ในเหตุการณ์ปัจจุบัน ก็เริ่มเผยให้เห็นความเหมือนกันระหว่าง “ผม” และ “เครือข่าย” แทรกเข้ามาเป็นระยะๆ เช่น ความเหมือนระหว่างตัว “ผม” และเตี่ยที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัวมาตั้งแต่วัยเด็กเหมือนกัน

 “ส่วนผมจากครอบครัวเข้าเมืองหลวงในวัยเดียวกับตอนที่เตี่ยจากเมืองจีนมาไทย” (หน้า 258)

 หรือเรื่องการเข้าร่วมงานเช้งเม้งที่เตี่ยเองก็ไม่เคยได้ไปงานเช็งเม้งของแม่เตี่ยด้วยเช่นกัน “จนถึงวันตาย เตี่ยก็ยังไม่เคยไปงานเช็งเม้งที่เมืองจีนเลยสักครั้งเดียว” (หน้า 280) หรือจะเป็นเรื่องหัวการค้า มีทัศนะกว้างไกลในด้านการค้าและการทำธุรกิจ เช่น ซาอี๊ที่เป็นผู้มีหัวการค้าเปิดโรงงานผลิตเครื่องหนัง เตี่ยและอาแป๊ะเล้งที่เป็นผู้ทำธุรกิจได้ดีที่สุดในตระกูล

 “ในบรรดาธุรกิจของทุกคน กิจการยาของเตี่ยกับอาแป๊ะเล้งก้าวไปได้เร็วและดีที่สุด” (หน้า 270)

 ซึ่งอาแป๊ะเล้งเป็นผู้ที่ทำการค้า โดยสร้างกำไรจากตัวสินค้าถึง 200-300 % ซึ่งเมื่อ “ผม” เติบโตขึ้นมาเขาก็สามารถมองเห็นถึงจุดนี้ด้วยเช่นกัน 


“เมื่อทำงานแล้วผมพบว่ามีสินค้าในตลาดอีกจำนวนมากที่คิดกำไรมากกว่าอาแป๊ะเล้งหลายเท่าตัว” และญาติเขา “ผม” ก็มักจะชอบคุยเรื่องการค้าขายตลอดเวลาในระหว่างรับประทานอาหารร่วมกัน 

“พวกเขาคุยกันเรื่องการค้าการขายตลอดเวลาที่กินข้าว กู๋สามคิดเปิดโรงงานขายเครื่องหนัง เขาดีดลูกคิดแล้วว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตโดยรับซื้อเครื่องหนังเก่ามาทำใหม่ ซาอี๊บอกไม่เห็นด้วย วันนั้นหล่อนมาจากร่อนพิบูลย์เพื่อเยี่ยมแม่ ซาอี๊ว่าหล่อนเคยคิดทำแบบนี้แล้ว แต่ไม่คุ้มทุน” (หน้า 270)

 นอกจากญาติพี่น้องของ “ผม” จะชอบคุยเรื่องการค้าการขายแล้ว พวกเขาก็เป็นคนที่มีความคิดทางด้านการค้าที่ดี มีความสามารถคิดต้นทุน มีหัวการค้าที่มองออกว่าธุรกิจแบบไหนที่ทำแล้วจะคุ้มทุนหรือไม่คุ้มทุน ดังจะเห็นได้จากซาอี๊ที่แย้งขึ้นมาว่า ความคิดวิธีการเปิดโรงงานขายเครื่องหนุงของอากู๋นั้นถ้าทำแล้วจะไม่คุ้มทุน นอกจากนี้ตัวละคร “ผม” ประกอบอาชีพเป็นมาร์เก็ตติ้ง แปลนเนอร์ ผู้วางแผนเกี่ยวกับการตลาด ซึ่งก็เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถด้านการค้า และมีทัศนะกว้างไกลในการมองธุรกิจเช่นเดียวกับพวกญาติพี่น้องของเขา อีกทั้งคนรอบข้างตัวละคร “ผม” ก็ลงความเห็นว่า “ผม” ก็เป็นผู้ที่มีความสามารถด้านการค้า ซึ่งเจ้านายใหญ่ของ “ผม” ได้กล่าวชมเชยผ่านทางโทรศัพท์ว่า “ขอบคุณที่เตือนสติ ผมขอบคุณตรงนี้แหละ สายตาคุณดี” คำว่า “สายตาคุณดี” เตี่ยของเขาก็ยังเคยเอ่ยปากว่า “ผม” เป็นคนที่มีแววด้านการค้า “แกเป็นลูกคนเดียวที่มีแววการค้ามากที่สุด” เป็นการบอกให้รู้ว่า “ผม” เป็นคนที่มีทัศนะด้านการค้าและการตลาดที่กว้างไกล มองเห็นสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับด้านนี้ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ส่วน “ผม” เองก็ได้กล่าวเช่นกันว่า “เครือข่ายของเราทุกคนก็มีสายตาดี” เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเหมือนกันในด้านการค้าขายที่ตัวละคร “ผม” และญาติพี่น้องของเขาต่างก็มีสิ่งนี้เหมือนกัน เป็นสิ่งที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นที่ผ่านมาจากรากเหง้าหรือสายเลือดของพวกเขาเอง


แม้กระทั่งคนรอบตัวของ “ผม” ก็ยังมีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกัน และดูเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับธรรมเนียมหรือความเป็นคนจีน เช่น อากู๋สี่ที่ไม่เคยแต่งงานในชีวิต เหมือนกับ “ผม” ที่ตอนนี้ยังไม่แต่งงานมีครอบครัว จินเป่าช่างถ่ายภาพรูปตระกูลของ “ผม” ที่มีชีวิตเป็นโสดจนวันตาย และเคยขายชาติให้กับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทรยศต่อพื้นแผ่นดินจีน แต่จินเป่าให้เหตุผลว่าตนเองไม่ได้ขายชาติและไม่ได้ทรยศ เพราะเขาไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนจีน พร้อมกับบ่นออกมาว่า “อั๊วเกลียดพวกคนจีน สกปรก โสโครก เอะอะว่นวายหนวกหู” (หน้า 273) เหมือนที่ตัวละคร “ผม” เคยบ่น แต่ผลสุดท้ายจินเป่ากลับพูดออกมาว่า “อั๊วก็เกลียดตัวเองด้วย” (หน้า 273) จินเป่าเองเกลียดตัวเอง เพราะเขาก็สำนึกและรู้อยู่แก่ใจว่า ไม่ว่าอย่างไรตัวเขาก็ยังมีเชื้อสายจีน


                นอกจากนี้สิ่งที่เห็นได้จากตัวละคร “ผม” ก็คือ เขาไม่ได้รู้ซึ้งหรือเข้าใจความหมายของประเพณีหรือวัฒนธรรมจีนที่สืบทอดต่อๆ กันมา เช่น ประเพณีวันตรุษจีนและพิธีไหว้กลางเดือนเจ็ดที่ “ผม” รู้สึกชอบประเพณีนี้ แต่ไม่ได้ชอบเพราะเป็นประเพณีที่ไหว้บรรพบุรุษของจีน แต่ชอบเพราะเป็นประเพณีที่ทำให้เขาได้กินอาหารที่อร่อย หรือจะเป็นตอนที่เตี่ยของ “ผม” ตาย และก็ได้จัดงานศพตามพิธีกรรมของชาวจีน แต่ “ผม” กลับไม่ได้เข้าใจถึงพิธีกรรมต่างๆ 


“ผมคำนับศพ และใช้เวลาอีกหนึ่งสัปดาห์ในพิธีกรรมต่างๆ ที่แสดงถึงความกตัญญู ตั้งแต่การเดินวนไปวนมาในทิศทางและความหมายที่ผมไม่เข้าใจ” (หน้า 284)

 และในขณะที่ “ผม” อยู่ในงานเช็งเม้งจะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าเขาจะเห็นอะไรในงานนี้ เขาจะนึกโยงไปถึงการตลาดของเขาเสมอ จะมีคำพูดที่เป็นความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับการตลาดแทรกขึ้นในระหว่างเรื่องอยู่เสมอ “เครื่องมือสื่อสารกับบรรพบุรุษเหล่านี้ดูเรียบๆ ไม่น่าสนใจ ยังสามารถทำ ‘product development’ ได้อีกมาก เป็นต้นว่าถ้าพิมพ์ลายสลักแบบจีนลงบนลำเทียนได้อาจเป็นลายมังกร ลายหงส์ หรืออักษรมงคลจีนสามสี่ตัว จะเป็นการเพิ่ม ‘added value’ ” ไม่ว่าจะเป็นธูป เทียน กระดาษที่เป็นรถยนต์ บ้านที่เผาไปให้บรรพบุรุษ เขามักจะคิดเชื่อมโยงกับหลักการตลาดของเขาว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างผลกำไร ซึ่งนำไปสู่คำตอบของการมางานเช็งเม้งนี้ในภายหลังว่า เขามางานเช็งเม้งเพื่องานของตน และทำให้เห็นถึงหัวการตลาดของตัวละคร “ผม” ที่มีอยู่ในตัวเหมือนกับญาติของเขา แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่า “ผม” มองเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นสินค้า แทนที่จะมองว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เขารู้สึกได้ถึงการมีเชื้อสายจีน ในตอนท้ายของเนื้อเรื่อง “เช็งเม้ง” ก็กลายเป็น “เอเจนด้า” ที่เขาจะนำไปเสนอในที่ประชุมการตลาดในวันถัดไป 


เรื่องราวในเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้เล่าให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างตัวละคร “ผม” และ “เครือข่าย” ของเขา ตัวละคร “ผม” มีวิถีชีวิตที่ต่างไปจาก “เครือข่าย” จนดูเหมือนว่าเขานั้นเป็นคนเชื้อสายอะไร คนไทย หรือว่าคนจีน แต่สาระของเรื่องก็ค่อยเปิดเผยออกมาให้เห็นว่า ความแตกต่างนี้อาจเป็นความต่างที่เกิดจากยุคสมัยที่แตกต่างกัน ตัวละคร “ผม” เป็นตัวแทนของคนในยุคใหม่หรือโลกใหม่ ส่วน “เตี่ย” เป็นตัวแทนของคนโลกเก่า ซึ่งมีส่วนที่แตกต่างกัน โลกของคนรุ่นเดียวกับเตี่ย จะเป็นโลกที่ทุกคนเติบโตมาด้วยความยากลำบาก อดมื้อกินมื้อ เพื่อความสุขสบายในภายภาคหน้า “นั่นคือโลกของพวกเขา” (หน้า 259) แต่โลกของ “ผม” เป็นคนที่รู้แสวงหาความสบาย 

“ผมรู้ว่าตนไม่ใช่คนเหยาะแหยะ ผมรู้จักหาความสบายต่างหาก ไม่ใช่เพราะความสบายนี่หรือที่ทำให้มีงาน เกิดสินค้าใหม่ๆ ออกมา” (หน้า 269

การที่เขามีวันนี้ได้ เพราะการรู้จักมองหาความสบายแทนที่จะเรียนรู้จากการอดทนต่อความยากลำบาก  อีกทั้งค่อยเล่าเรื่องราวออกมาว่า ในความต่างก็ยังมีความเหมือน “ผม” ไม่ใช่คนจีนคนเดียวที่แปลกแยก แต่ยังมีตัวละครอื่นอย่างเช่น อากู๋สี่หรือจินเปาที่มีความแตกต่างไปจากคนจีนทั่วไปเช่นกัน
              

  เนื่องจาก “ผม” เติบโตมาจากสภาพสังคมที่แตกต่างไปจากยุคสมัยของเตี่ย ทำให้วิถีความเป็นอยู่ต่างกัน “ผม” ไม่เข้าใจถึงประเพณีต่างๆ ของชาวจีนได้อย่างลึกซึ้งเท่าเตี่ย “ผม” วัฒนธรรมทางตะวันตก หรือวัฒนธรรมไทยเองก็ได้แทรกซึมเข้าไปในชีวิตของ “ผม” ทำให้ “ผม” ชอบฟังเพลงสากลมากกว่าที่จะฟังเพลวงิ้วอย่างที่เตี่ยชอบ ผมอยากเปลี่ยนนามสกุลไทย เพราะไม่อยากถูกล้อว่าเป็นเจ๊กหรือจีน อีกทั้ง “ผม” ไม่จำเป็นต้องพึ่งกับเครือข่ายของเขาตลอดไป เพราะได้รับการศึกษา มีงานทำ มีเส้นทางเป็นของตัวเอง และไม่ได้มีประสบการณ์ที่จำเป็นต้องลำบากตรากตรำทำงานหนักเหมือนสมัยที่เตี่ยอพยพเข้ามาในเมืองไทย เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป “ผม” จึงไม่เข้าใจและไม่รู้ซึ้งถึงความยากลำบากที่คนรุ่นเตี่ยได้ผ่านมา  รวมไปถึงประเพณีการไหว้บรรพบุรุษต่างๆ ที่เขาไม่เคยได้รู้ซึ้งถึงความหมาย และ “ผม” เองก็แสดงตนอยากเด่นชัดว่า ความคิดแบบของเตี่ยที่มักสอนให้ไหว้บรรพบุรุษ การออกคำสั่งลูกหลานในบ้านให้เป็นไปตามแบบแผนของตนนั้นว่า “หมดยุคเตี่ยแล้ว”


ผู้แต่งยังใช้กลวิธีที่เปรียบให้เห็นถึงความขัดแย้ง แสดงให้เห็นมุมมองของตัวละคร “ผม”ที่มองงานเช็งเม้งต่างไปจากคนจีนทั่วไป เช่น ฮ้วงซุ้ย คือ สถานที่ติดต่อระหว่างคนเป็นกับคนตาย เทียนสีแดงที่เอาไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ คือ เครื่องมือสื่อสาร เป็นต้น แสดงให้เห็นแนวคิดของ “ผม” ว่า เขาเห็นอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นเป็นเหมือนสิ่งของ นึกถึงประโยชน์การใช้งานที่สามารถมองเห็นได้จริง ไม่ได้มองว่ามันเป็นเครื่องเซ่นไหว้ หรือแสดงความเคารพแต่อย่างใด หรือการที่ผู้แต่งแทรกข้อความซึ่งเป็นคำพูดนึกคิดของตัว “ผม” ที่มีศัพท์การตลาดมากมายที่แทรกเข้ามา แสดงให้เห็นถึงความความคิดของการตลาดในรูปแบบใหม่ แต่ยังคงเค้าความเป็นสิ่งดั้งเดิมก็คือ การตลาดเป็นสิ่งที่ใช้ในการคิดวางแผนในการค้าขายซึ่งเป็นอาชีพหลักของ “เครือข่าย” รวมไปถึงการแสดงถึงความขัดแย้งระหว่างคนจีนอย่างเตี่ยและตัวเขาเอง เช่น เตี่ยชอบฟังเพลงงิ้ว แต่เขาชอบฟังเดอะ บีทเทิล เตี่ยมักไหว้บรรพบุรุษอย่างพิถีพิถัน ธูปเป็นสิ่งที่ไม่เคยขาดในบ้าน แต่ “ผม” ไม่ชอบกลิ่นธูป เป็นต้น


ผู้แต่งเล่าเรื่องโดยเริ่มจากน้ำเสียงที่แสดงออกมาเหมือนไม่พึงพอใจในความเป็นจีน แสดงถึงความขัดแย้งระหว่างความคิดของเขาหรือความคิดของคนจีน แต่ในท้ายที่สุดน้ำเสียงก็ไม่ได้ออกแนวโกรธหรือไม่พอใจกับความเป็นจีน เห็นได้จากตอนจบเขากลับหยิบมะระที่เตี่ยชอบมาผ่าเอาเมล็ดออกและฝั่งลงไปในดิน แสดงให้เห็นว่าเขาก็ไม่ได้ไม่ชอบหรือขัดแย้งกับความเป็นจีนหรือสิ่งที่เป็นตัวแทนของตระกูลของเขาไปเสียทั้งหมด


 “เช็งเม้ง” หรือประเพณีอื่นๆ ที่ทุกคนปฏิบัติต่อๆ กันมาที่ถ่ายทอดผ่านเรื่องสั้นนี้เป็นเพียงเปลือกนอกที่ทุกคนสร้างขึ้นมา เพื่อบ่งบอกว่าตัวเองนั้นเป็นคนจีน โดยความเชื่อที่ว่า ถ้าประพฤติตามจะมีความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต “ลูกหลานไม่ไหว้บรรพบุรุษจะไม่เจริญ” (หน้า 253) และใครที่ไม่เข้าร่วมก็ถือได้ว่าไม่ใช่คนจีน ต่างคนต่างพยายามหาของมาเซ่นไหว้ เผากระดาษที่เป็นตัวแทนสิ่งของต่างๆ ให้มากที่สุดด้วยความปรารถนาว่าคนที่ตายไปจะได้รับ และแสดงถึงความกตัญญูที่มีต่อบรรพบุรุษ แต่สิ่งเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่ “ผม” ไม่ได้รู้ซึ้งหรือเข้าใจไปกับมัน แต่สิ่งที่ “ผม” สืบทอดต่อมาจากเตี่ยและจากญาติคนอื่นๆ ในเรื่องของหัวการค้านั้นเป็นสิ่งที่ “ผม” ได้สัมผัสมาจากการที่ได้ยินเหล่าญาติๆ มักชอบพูดคุยกันในระหว่างรับประทานอาหาร “ผม” มีชีวิตตั้งแต่เด็กมากับเรื่องของการค้าขาย ทำให้เป็นสิ่งที่ซึมซับเข้าไปในตัวเขา รวมไปถึงเรื่องราวของ “มะระ” ที่เป็นสิ่งที่กล่าวถึงในตอนกลางของเรื่อง และถูกกล่าวซ้ำในตอนจบ ซึ่งมะระเป็นพืชที่เตี่ยชอบรับประทานมาก  และเตี่ยเคยบอกไว้ว่า 


“มันเป็นพันธุ์ที่แข็งแรง ปลูกที่ไหนก็ได้ . . .เมล็ดพวกนี้อยู่ได้นานเป็นปีๆ ลงดินได้น้ำเมื่อไหร่ก็ขึ้นเมื่อนั้น สืบต่ออีกหลายชั่วคน” (หน้า 275


และความทรงจำนี่เองนำไปสู่การฝั่งเมล็ดมะระในบริเวณเนื้อฮวงซุ้ยของเตี่ย เป็นการกระทำที่เกิดจากการตัดสินใจของ “ผม” เองที่ไม่ต้องคอยถามจากตั่วกอว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป อีกทั้งมะระก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นคนจีนจากเนื้อในหรือจากสายเลือดโดยธรรมชาติ ดังเช่นมะระที่เป็นพืชพรรณที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตามเมล็ดพันธุ์ของมัน ซึ่งต่างไปจากพิธีกรรมในงานเช็งเม้งที่ผู้คนสร้างมันขึ้นมา มะระเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เติบโตได้ที่นั่น เหมือนกับ “ผม” ที่เป็นดั่งเมล็ดมะระสายพันธุ์แท้ที่ถูกนำมาจากประเทศจีน แต่ก็ยังสามารถเติบโตได้ในแผ่นดินไทยและยังไม่กลายสายพันธุ์  ต่อให้วันนี้ “ผม” หรือ “อาเต๊ก แซ่ตั้ง” จะกลายเป็น “นายสมศักดิ์ ตั้งสวัสดิ์ไชย” แต่เขาก็ยังเป็นคนจีนคนหนึ่งที่เป็นลูกของเตี่ย ได้สืบทอดความเป็นจีนบางอย่างที่ยังคงอยู่ในจิตใจของเขา ถึงแม้ว่าเปลือกภายนอกหรือความคิดบางอย่างจะแตกต่างออกไป


เรื่องสั้น “เช็งเม้ง” เสนอให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีรากเหง้าร่วมกัน เมื่อเติบโตขึ้นอาจมีบางสิ่งที่แตกต่างกันไป มีความแปลกแยกหรือไม่เหมือนคนในยุคก่อนๆ ประเพณีหรือธรรมเนียมเป็นเหมือนเปลือกนอกที่ผู้คนสร้างขึ้นมาเพื่อหล่อหลอมให้คนยุคใหม่กับยุคเก่าสามารถเชื่อมเข้าหากัน แต่ในบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถสร้างความเข้าใจถึงความหมายของมัน แต่ไม่ว่าอย่างไร คนเรายังมีบางสิ่งบางอย่างที่เราสืบทอดต่อกันมา ภายนอกอาจมีความแตกต่างไปจากเดิม แต่ภายใจก็ยังมีสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงให้เราไม่ขาดออกจากกัน มันอาจเป็นความสัมพันธ์ที่เราอาจมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่เราก็ยังคงรู้ได้ถึงการมีอยู่ของมัน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น